ส่งกล้องมิเรอร์เลสไปสู่ดวงจันทร์: นิคอนได้ทำข้อตกลง Space Act ร่วมกับ NASA ในการมอบกล้องนิคอน Z 9 เพื่อสนับสนุนภารกิจ Artemis
นิคอนและ NASA ร่วมมือกันพัฒนากล้องแบบใช้มือถือ
โตเกียว – Nikon Corporation (นิคอน) ยินดีที่จะประกาศว่า Nikon Inc. ได้ลงนามในข้อตกลง Space Act ร่วมกับ National Aeronautics and Space Administration (NASA) เพื่อสนับสนุนแคมเปญ Artemis ของหน่วยงานนี้ผ่านการพัฒนา Handheld Universal Lunar Camera (HULC) นิคอน Z 9 ซึ่งเป็นกล้องฟูลเฟรมระดับเรือธงของนิคอนซึ่งได้รับการติดตั้งไว้ในระบบ HULC นี้ จะเป็นกล้องแบบมือถือสำหรับภารกิจ Artemis III ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะได้นำไปใช้งานโดยลูกเรือที่กลับไปสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์
แคมเปญ Artemis มีภารกิจสำคัญอันยิ่งใหญ่เพื่อมนุษยชาติ Artemis จะนำมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์เพื่อสร้างรากฐานอันมั่นคงในการทำการวิจัยและออกสำรวจทางวิทยาศาสตร์ระยะยาวบนดวงจันทร์ ซึ่งจะเป็นประตูทางผ่านเพื่อออกเดินทางสู่ดาวอังคาร นับตั้งแต่ที่มนุษย์เริ่มออกเดินทางสู่อวกาศก็ได้มีการนำกล้องแบบมือถือมาใช้เพื่อบันทึกการเดินทาง การส่งภาพถ่ายอันโดดเด่นกลับมา และใช้ในการวิจัยต่างๆ ข้อตกลง Space Act นี้เป็นความร่วมมือระหว่าง NASA กับ Nikon Inc. ที่จะทำการทดสอบว่ากล้องฟูลเฟรมสุดล้ำรุ่นล่าสุดจะสามารถใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมของดวงจันทร์ พร้อมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับการถ่ายภาพและวิดีโอสำหรับภารกิจนี้
ภารกิจ Artemis III มีกำหนดที่จะปล่อยตัวจรวด SLS (Space Launch System) ของ NASA ไปพร้อมกับยาน Orion ของหน่วยงานนี้ในเดือนกันยายน 2026 ซึ่งนับเป็นการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของลูกเรือที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้สัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์นับตั้งแต่ปี 1972 รวมถึงยังเป็นครั้งแรกที่ลูกเรือเพศหญิงจะได้ออกเดินบนดวงจันทร์อีกด้วย ในระหว่างช่วงภารกิจนาน 30 วันนี้ ลูกเรือจะได้เข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ หลังจากนั้นนักบินอวกาศ 2 คนจะได้ลงสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ในโมดูลสำหรับดวงจันทร์ (Starship Human Landing System ของ SpaceX) หลังจากนั้น ลูกเรือจะใช้เวลาประมาณ 7 วันบนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อทำการวิจัยและออกเดินบนดวงจันทร์หลายครั้ง ก่อนที่จะกลับไปหาลูกเรืออีก 2 คนบนยังยานอวกาศ Orion เพื่อกลับสู่พื้นโลก
เกี่ยวกับกล้องที่ได้รับการดัดแปลง
พื้นผิวดวงจันทร์และสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์มีลักษณะเป็นสุญญากาศแบบโหดร้ายรุนแรง ซึ่งทำให้เกิดความท้าทายด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมมากมาย อุณหภูมิบนพื้นผิวมีการเปลี่ยนแปลงไปมาแบบสุดขั้ว และยังมีการแผ่รังสีคอสมิกอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของระบบไฟฟ้าได้ วิศวกรของนิคอนจึงได้ทำงานร่วมกับ NASA อย่างใกล้ชิดในการพัฒนาโซลูชันที่มีความเพื่อความเสถียรมาที่สุดเมื่อทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่รุนแรงเช่นนี้ รวมถึงมีการออกแผงวงจรและลำดับการควบคุมภายในกล้องใหม่เพื่อให้ทนต่อรังสีปริมาณมหาศาล นอกจากนี้ยังมีการมอบความสนับสนุนเมื่อทดสอบความร้อนด้วยระบบสุญญากาศ ทำการทดสอบและการจำลองต่างๆ เพื่อให้กล้องยังคงรักษาสถานะการทำงานได้เมื่ออยู่ห่างจากโลกออกไปประมาณ 383,000 กิโลเมตร (238,000 ไมล์)
ตัวกล้องจะถูกนำไปใช้โดยนักบินอวกาศระหว่างทำกิจกรรมนอกตัวยาน (EVA) ซึ่งลูกเรือจะต้องอยู่ในอวกาศหรือเดินบนดวงจันทร์อีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้นักบินอวกาศใช้งาน Z 9 ได้อย่างสะดวกสบายและง่ายดายเมื่อต้องสวมถุงมือหนาๆ ของชุดอวกาศ จึงมีการพัฒนามือจับแบบกำหนดเองโดย NASA ให้สามารถทำการควบคุมทั่วๆ ไป เช่น การลั่นชัตเตอร์ การแสดงภาพ การสลับเพื่อถ่ายภาพนิ่ง/วิดีโอ และอื่นๆ มือจับนี้จะเชื่อมต่อกับกล้องผ่านขั้วต่อแบบ 10-pin ซึ่งจะใช้งานได้กับเฟิร์มแวร์พิเศษ แบบกำหนดเองซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับกล้องนี้โดยเฉพาะ ส่วนในการปกป้องตัวกล้อง เลนส์ และกรอบกันน้ำระหว่างใช้งานในช่วง EVA นี้ NASA ได้สร้าง "ผ้าคลุมควบคุมอุณหภูมิ" แบบพิเศษขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับผ้าที่นักบินอวกาศของสถานีอวกาศนานาชาติใช้เมื่อเดินในอวกาศภายนอกยาน รวมถึงมีการใช้เลนส์ NIKKOR Z จำนวนหนึ่งสำหรับภารกิจนี้ด้วย โดยเลนส์ที่จะใช้งานบนดวงจันทร์จะได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงของดวงจันทร์
และเช่นเดียวกับกล้องที่ลูกเรือในสถานีอวกาศใช้ เฟิร์มแวร์ก็มีการปรับแต่งพิเศษสำหรับภารกิจนี้ การดัดแปลงเหล่านี้รวมถึงการใช้วงจรไฟฟ้าแบบพิเศษ การขยายการลดสัญญาณรบกวนเพื่อลดความไวชัตเตอร์ เพื่อลดผลกระทบจากรังสีคอสมิกที่ลูกเรือและอุปกรณ์ต้องพบสัมผัสในปริมาณมากอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในเรื่องลำดับการตั้งชื่อไฟล์ การตั้งค่าและการควบคุมเริ่มต้นที่ปรับให้เหมาะสำหรับภารกิจภายนอกยาน รวมถึงยังมีการเปลี่ยนแปลงการควบคุมการสื่อสารในตัวกล้องเพื่อกระชับเวิร์กโฟลวของนักบินอวกาศและลดการใช้พลังงานเมื่อส่งรูปภาพจากอวกาศสู่โลก และมีการแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งประกอบด้วยการปรับระบบป้องกันชัตเตอร์ให้เหมาะสม ฟังก์ชันการทำงานของ HDR ที่ได้รับการปรับปรุง และการตั้งค่าเริ่มต้นที่แก้ไขมาสำหรับรายการเมนู
ร่วมบันทึกเพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์
NASA และหน่วยงานด้านอวกาศได้ใช้กล้องนิคอนหลากหลายรุ่น โดยล่าสุดได้ส่งกล้อง Z 9 แบบที่ไม่ได้ปรับแต่งไปให้ลูกเรือของสถานีอวกาศนานาชาติได้ใช้งาน นับตั้งแต่ภารกิจ Apollo 15 เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว NASA ได้เลือกใช้กล้องและเลนส์นิคอนในการออกสำรวจอวกาศเสมอมา ตั้งแต่ปี 1999 กล้องนิคอน (นิคอน F5) และเลนส์ NIKKOR ได้รับการนำไปใช้งานใน ISS เพื่อประโยชน์ในด้านการทำวิจัยวิทยาศาสตร์ การซ่อมบำรุง และเพื่อให้นักบินอวกาศได้เก็บภาพที่สวยงามโดดเด่นของโลก ผืนฟ้า และสิ่งต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไป
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อตกลง NASA Space Act และรายการข้อตกลงฉบับปัจจุบันของ Space Act โปรดไปที่เว็บไซต์นี้:
https://www.nasa.gov/partnerships/current-space-act-agreements/
* ชื่อทางการค้า (บริษัท, ผลิตภัณฑ์, บริการ เป็นต้น) คือเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนของผู้ถือสิทธิ์รายนั้นๆ